วอลเลย์บอล ข่าว ผลกีฬา

Wednesday, January 13, 2021

(383) วอลเลย์บอลสัพเพเหระ : ถ้าญี่ปุ่น ไม่ได้จัดโอลิมปิก 2020 จะเกิดอะไรขึ้น

(383) วอลเลย์บอลสัพเพเหระ

     ( ถ้าญี่ปุ่น ไม่ได้จัดโอลิมปิก 2020 จะเกิดอะไรขึ้น...? )

     จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าญี่ปุ่นไม่ได้จัดโอลิมปิก 2020

     แน่นอนเลย อันดับแรก กระทบถึงตัวนักกีฬาที่ไม่สามารถลงทำการแข่งขันได้

     ชีวิตของนักกีฬา ความใฝ่ฝันสูงสุด คือ การเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

     โอลิมปิกฤดูร้อนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ประเทศกรีซรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ

     ญี่ปุ่นเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1912 กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยส่งนักกีฬาชิมลางเข้าร่วมแข่งขัน 2 รายการ จบการแข่งขัน ญี่ปุ่นกลับบ้านมือเปล่าไร้เหรียญรางวัล

     ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จสูงสุดคว้าเหรียญทองถึง 16 เหรียญ ในการแข่งขันโอลิมปิก 1964 ครั้งที่ 18 ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ 

     1 ใน 16 เหรียญทอง มาจากผลงานของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงของเจ้าภาพ ที่สร้างผลงานระบือนามก้องโลก เมื่อทีมหญิงชนะสหภาพโซเวียตในรอบชิงชนะเลิศ และทีมชายคว้าเหรียญทองแดง

     นับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1964

     ญี่ปุ่น ตามล่าฝันในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 2 อย่างบ้าคลั่ง ดุจสิงห์โตต้องตะปบเหยื่อให้ตายแหลกลาญคาอุ้งเท้า

     ญี่ปุ่น ช่วงชิงการเป็นเจ้าภาพในปี 1988 โดยการส่งเมืองนาโกย่า เข้าประกวด วัดศักยภาพกับกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

     วันที่ 30 กันยายน 2524 ณ เมืองบาเดิน-บาเดิน ประเทศเยอรมนีตะวันตก ไอโอซีประชุมเพื่อคัดเลือกเจ้าภาพ

     ผลปรากฎว่า ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในการโหวตรอบสุดท้าย เสียเหลี่ยมเพลงดาบซามูไรไปอย่างหมดรูป 27-52 คะแนน

     แพ้ใครก็ได้ จะไม่ว่าสักคำ ดันมาแพ้ เพื่อนรักเพื่อนชังอย่างเกาหลีใต้ หลายคนบ่นแบบนั้น

     ญี่ปุ่น นอนเลียแผลอยู่พักใหญ่ พร้อมกลับมาอีกครั้ง จับเมืองโอซาก้าแปลงโฉมทำศัลยกรรมใหม่หมด ยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ครั้งที่สอง ในปี 2008 คราวนี้ แย่กว่าครั้งที่แล้ว เมื่อไม่ผ่านผลโหวตรอบแรก ได้ไป 6 คะแนน ปีนั้น กรุงปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพ

     ปี 1988 ญี่ปุ่น แพ้ เกาหลีใต้

     ปี 2008 ญี่ปุ่น แพ้ จีน

     เท่ากับว่า สงครามชิงเจ้าภาพโอลิมปิกทั้ง 2 ครั้ง ญี่ปุ่นแพ้ทางชาติเพื่อนบ้านเกาหลีใต้และจีน

     ญี่ปุ่น ก็คือ ญี่ปุ่น อยากได้โอลิมปิกมานอนกอด ต้องทำให้ได้ "เงินเยนกองเท่าภูเขาไฟฟูจิ" จะกลัวทำไม หน้าตาและศักดิ์ศรีของชาติต้องมาก่อน

     โอลิมปิก 2016 ญี่ปุ่นขอยื่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเป็นคำรบสาม โดยส่งเมืองโตเกียวเข้าประกวด โดยมีเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 8 เมือง ดังนี้

     1. ริโอ เดอ จาเนโร บราซิล
     2. ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
     3. มาดริด สเปน
     4. โตเกียว ญี่ปุ่น
     5. บากู อาเซอร์ไบจาน
     6. โดฮา กาตาร์
     7. ปราก สาธารณรัฐเช็ก
     8. บาหลี อินโดนีเซีย

     วันที่ 4 มิถุนายน 2551 เมืองโตเกียว ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบ 4 เมืองสุดท้ายแบบไม่ยากเย็นนัก โดยมี ริโอ เดอ จาเนโร ชิคาโก และมาดริด เป็นก้างขวางคอในรอบสุดท้าย

     118 วันแห่งการรอคอย รอบสุดท้ายเดินทางมาถึง

     ผู้คนวัยเด็ก หนุ่มสาวยันคนเฒ่า ต่างเฝ้าคอยติดตามข่าวอย่างใจระทึก

     วันที่ 2 ตุลาคม 2552 กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)  สมัยที่ 121 เพื่อชี้ขาดเลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016

     การลุ้นผลการประกาศเมืองเจ้าภาพในครั้งนี้ ผู้ทรงอิทธิพลล้วนปรากฎกาย สเปน องค์พระประมุขโดยสมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย ญี่ปุ่น นำทัพใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรียุกิโอะ ฮะโตะยะมะ สหรัฐอเมริกา พี่ใหญ่จัดเต็ม โดยประธานาธิบดีบารัก-มิเชล โอบามา และโอปราห์ วินฟรีย์พิธีกรชื่อดัง บราซิล ไม่น้อยหน้าจัดหนัก โดยประธานาธิบดีลูอิซ อีนาซีโอ ลูลา ดา ซิลวา ควงเปเล่ ยอดนักฟุตบอลระดับตำนานเข้าร่วมงานด้วยอย่างพร้อมเพรียงกัน 

     การประกาศผลมีขึ้นในเวลาประมาณ 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ชิคาโกหลุดโผตั้งแต่รอบแรก โตเกียวจบที่รอบสอง ได้ 20 คะแนน ยุติแต่เพียงรอบนี้

     รอบที่สาม ริโอ เดอ จาเนโร ได้ 66 คะแนน เหนือมาดริด ที่ได้ 32 คะแนน คว้าเจ้าภาพโอลิมปิก 2016 ทันที

     ญี่ปุ่น อกหักในการช่วงชิงเจ้าภาพโอลิมปิกทั้ง 3 ครั้ง 3 ครา หาได้ท้อแท้และเข็ดหลาบไม่

     เหลียวกลับไปมองเงินเยนที่ท้องพระคลัง ปรากฏว่า ยังเหลืออีกเยอะ บิดไป 3 ครั้ง ขนหน้าแข้งยังไม่ร่วง คนญี่ปุ่นยังเฉยๆ

     ว่าแล้ว...ญี่ปุ่นเริ่มสรุปบทเรียนในการบิดพ่ายแพ้ทั้ง 3 ครั้ง เกิดจากปัญหาอะไรบ้าง 

     กลับมาดูข้อผิดพลาดในทุกรายละเอียดใหม่หมด ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของสนามแข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา การบริหารงานสื่อมวลชน สถานที่พัก ระบบขนส่งมวลชน ความปลอดภัย การสนับสนุนจากรัฐบาล และระบบการสื่อสาร จากนี้ต่อไปทุกอย่างต้องพร้อมทุกกระเบียดนิ้ว

     หลังจากเข้าห้องเย็น สรุปบทเรียนสอนใจเสร็จแล้ว

     ญี่ปุ่น มาในมาดนวัตกรรมใหม่ นิ่ง สุขุมล้ำลึก แต่งตัวอินเทรนด์ เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 4 

     ญี่ปุ่น ออกแบบให้เมืองโตเกียวทันสมัย โก้ เท่ และสมาร์ทที่สุดในทุกๆด้าน เพื่อจะไปนำเสนอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ปี 2020

     การคัดเลือกเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2020 มีเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 6 เมือง ดังนี้

     1. โตเกียว ญี่ปุ่น
     2. อิสตันบูล ตุรกี
     3. มาดริด สเปน
     4. บากู อาเซอร์ไบจาน
     5. โดฮา กาตาร์
     6. โรม อิตาลี ยกเลิกการเสนอชื่อ

     วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 เมืองควิเบกซิตี้ ประเทศแคนาดา ไอโอซีประกาศให้ โตเกียว อิสตันบูล และมาดริด ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย

     ญี่ปุ่น ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแบบสบายๆ "ประดุจเตียงนอนมาพร้อมหมอน"

     การมาครั้งนี้ แผนงานการเตรียมงาน พร้อมมากที่สุดถึงมากที่สุด

     ในที่สุด วันแห่งความรอคอยได้เดินทางมาถึง

     วันที่ 7 กันยายน 2556 โลกทั้งใบหยุดนิ่งชั่วขณะ การประชุมของไอโอซีเพื่อชี้ขาดหาเมืองเจ้าภาพ ณ โรงแรมบัวโนสไอเรส ฮิลตัน กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

     เจ้าหญิงฮิซะโกะ และนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของญี่ปุ่น นายเรเจป ไตยิป เอร์โดอัน นายกรัฐมนตรีแห่งตุรกี และเจ้าชายเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปน ปรากฏกายเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

     วันนี้ ท้องฟ้าของเมืองอิสตันบูล และเมืองมาดริด ดูช่างไม่สดใส มืดมิดและอึมครึม

     ผิดกับเมฆหมอกเหนือภูเขาไฟฟูจิ ช่างสวยสดงดงามยิ่งนัก

     ผลการลงคะแนนตัดสินเมืองเจ้าภาพ ปรากฏว่า โตเกียว ชนะการโหวตเหนือ อิสตันบูล และมาดริดขาดลอย

     โตเกียว ได้คะแนนในรอบที่สาม 60 คะแนน อิสตันบูลได้ 36 คะแนน

     สมใจนึกเมืองโตเกียว ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องทุกทิศทางต่างแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ

     โลกแห่งโอลิมปิก คือโลกทั้งใบที่ชาวญี่ปุ่นฝันหวาน ฝันถึงอนาคตที่เรืองรองทั้งทางด้านกีฬา การคมนาคม และเศรษฐกิจ

     นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลพรั่งพธู มากันไม่ขาดสาย แทบจะเดินชนกันตายในกรุงโตเกียวและทุกๆหัวมุมเมืองในประเทศญี่ปุ่น

     งานและเงิน เงิน เงิน จะไหล่บ่าผ่านระบบการเงินออนไลน์อย่างมหาศาล

     สปอนเซอร์น้อยใหญ่แบรนด์ดังๆและไม่ดัง ที่จะเข้าร่วมโฆษณา เพื่อแจ้งเกิดมีมูลค่ามากมายประมาณวงเงิน 100,691 ล้านบาท

     นักธุรกิจรุ่นใหม่ วาดภาพแห่งความฝันพากันลงหุ้นลงขัน ทำการตลาดล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น การตลาดออฟไลน์หรือออนไลน์ ทุกรูปแบบของธุรกิจที่เชื่อมสัมพันธ์กับกีฬาโอลิมปิก

     7 ปี ที่ญี่ปุ่นเตรียมการเป็นเจ้าภาพ พร้อมหมดทุกองคาพยพ

     และแล้ว...ญี่ปุ่นต้องช็อคตาค้าง ตาแทบถลนออกจากเบ้าตา

     เมื่อโควิด-19 แขกผู้ไม่ได้รับเชิญ เข้ามาเยี่ยมพลเมืองโลกอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันทั่วโลก

     การมาของโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นเลื่อนจัดโอลิมปิกจากโปรแกรมเดิม วันที่ 24 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2020 รวม 17 วัน ต้องเลื่อนออกไป 1 ปี เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2021

     สถานการณ์ล่าสุด

     วันที่ 10 มกราคม 2564 โพลญี่ปุ่นอยากให้ยกเลิก-เลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020

     โดยสำนักข่าวเกียวโดได้ทำแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 1,041 คน พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นควรให้ยกเลิกหรือเลื่อนออกไปอีกครั้ง

     สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดระลอกสามของไวรัสโควิด-19ในญี่ปุ่น จากการสอบถามทางโทรศัพท์พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 บอกกับเกียวโดว่า อยากให้ยกเลิก และร้อยละ 45 อยากให้เลื่อนออกไปอีกครั้ง

     ผลโพลของญี่ปุ่น หาได้ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสะดุ้งตกใจที่ไหน

     ออกมาสวนเปรี้ยง...

     การแข่งขันจะต้องดำเนินต่อไปตามแผนทุกประการ

     โดยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาให้ได้อย่างปลอดภัย และเขาเชื่อว่าอารมณ์ของผู้คนจะเปลี่ยนไปเมื่อญี่ปุ่นเริ่มการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

     สมมติว่า ถ้าญี่ปุ่นไม่ได้จัดโอลิมปิกตามกำหนดเดิม จะเกิดอะไรขึ้น...?

     1. ชะตากรรมของนักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิก ดับฝันสลาย

     2. แผนการท่องเที่ยวทรุดคาที่ ตามที่คาดกันไว้ว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก จำนวน 600,00-700,000 คน

     3. กลุ่มธุรกิจรายย่อย ร้านค้า-บริษัทเล็กน้อยใหญ่ที่วางแผนธุรกิจล่วงหน้า ดับสนิท

     4. รายได้จากสปอนเซอร์-โฆษณาจากรายย่อย หายทันที 348,000 ล้านเยน (100,691 ล้านบาท) ยังไม่นับเจ้าใหญ่แบรนด์ดังที่ทำสัญญาไว้กับไอโอซี ที่จะต้องจ่ายทันทีเมื่อโอลิมปิกเริ่ม เช่น บริดจ์สโตน โตโยต้า โคคา-โคล่า อาลีบาบา พานาโซนิค และวีซ่า

     5. งานออร์แกไนเซอร์สลบทันที ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง ในด้านพิธีเปิด สนามแข่งขัน งานระบบขนส่ง งานระบบคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสารมวลชน พิธีปิด

     6. รายได้จากลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสด บัตรเข้าชมการแข่งขัน อุปกรณ์กีฬา สินค้าที่ระลึก สวนสนุก และพิพิธภัณฑ์ จะหายล่องลอยไปในอากาศ

     7. หมู่บ้านนักกีฬา กลายเป็นหมู่บ้านร้าง

     8. ญี่ปุ่นจะมีความเสียหายเป็นเงินรวม 1.6 ล้านล้านเยน (4.6 แสนล้านบาท)

     ข้อสุดท้ายเลยนะ...พูดแล้วเศร้า พวกเราอดดูวอลเลย์บอล

No comments:

Post a Comment